เปิดตัว "แผนที่จักรวาล 3 มิติ" ฉบับครอบคลุมห้วงอวกาศกว้างไกลมากที่สุด

หลักฐานบางส่วนจากแผนที่ฉบับนี้ชี้ว่า ที่ผ่านมาเอกภพอาจไม่ได้ขยายตัวในอัตราเร่งคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อราว 6 พันล้านปีก่อน พบร่องรอยการขยายตัวด้วยอัตราเร่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการวัดระยะห่างระหว่างดาราจักรในบริเวณที่แตกต่างกัน https://www.boonnews.tv/n27094

488 ผู้เข้าชม

แผนที่สามมิติแสดงโครงสร้างของจักรวาลและตำแหน่งของกาแล็กซี

ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยราว 30 แห่งทั่วโลก เปิดตัวแผนที่สามมิติซึ่งแสดงถึงโครงสร้างของจักรวาลและตำแหน่งของกาแล็กซีประเภทต่างๆ โดยครอบคลุมห้วงอวกาศได้กว้างไกลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แผนที่ดังกล่าวมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลถึง 20 ปี โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ในรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Sloan Digital Sky Survey (SDSS) สังเกตการณ์เหล่าดาราจักรและวัตถุอวกาศที่เปล่งแสงเจิดจ้าอย่างเควซาร์ (Quasar) กว่า 4 ล้านแห่ง

วัตถุอวกาศเหล่านี้ยิ่งตั้งอยู่ห่างไกลออกไปเท่าใด ก็จะยิ่งมีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์บิ๊กแบง หรือกำเนิดจักรวาลเมื่อราว 1.4 หมื่นล้านปีก่อนมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเอกภพขยายตัวด้วยอัตราเร่ง

หลักการดังกล่าวทำให้แผนที่จักรวาลฉบับล่าสุดสามารถแสดงร่องรอยความเป็นมาในอดีตของเอกภพได้ โดยเราสามารถจะย้อนมองไปได้ไกลถึงเมื่อ 1.2 หมื่นล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างไกลที่สุดที่มนุษย์จะย้อนศึกษาได้ในปัจจุบัน

กาแล็กซีที่มีอายุใกล้เคียงกันจะเกาะกลุ่มอยู่ในบริเวณแถบเดียวกันและแผ่พลังงานในช่วงคลื่นเดียวกัน โดยในแผนที่นี้จะเห็นเป็นสเปกตรัมของแสงสีต่าง ๆ เช่นแถบสีเขียวคือกลุ่มของกาแล็กซีที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ถัดออกไปเป็นหมู่กาแล็กซีสีแดงที่มีอายุเก่าแก่กว่า ส่วนแถบสีเหลืองคือบรรดาเควซาร์ซึ่งเป็นส่วนใจกลางของกาแล็กซีที่เปล่งแสงสว่างมหาศาล และมีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับกำเนิดจักรวาล

ข้อมูลที่ได้จากการทำแผนที่จักรวาลสามมิติอาจช่วยไขปริศนาเรื่องค่าคงที่ฮับเบิล (Hubble constant) ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าค่าดังกล่าวควรจะเป็นเท่าใดกันแน่ เนื่องจากไม่ทราบอัตราเร่งที่แน่นอนในการขยายตัวของเอกภพ

หลักฐานบางส่วนจากแผนที่ฉบับนี้ชี้ว่า ที่ผ่านมาเอกภพอาจไม่ได้ขยายตัวในอัตราเร่งคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อราว 6 พันล้านปีก่อน พบร่องรอยการขยายตัวด้วยอัตราเร่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายได้ว่า เพราะอะไรค่าคงที่ฮับเบิลที่ยอมรับและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงต่ำกว่าค่าที่วัดและคำนวณด้วยวิธีใหม่ถึง 10 % โดยสันนิษฐานว่าค่าคงที่ฮับเบิลที่คำนวณได้ไม่เหมือนเดิม เกิดจากการวัดระยะห่างระหว่างดาราจักรในบริเวณที่แตกต่างกันของห้วงจักรวาล

เปิดตัว "แผนที่จักรวาล 3 มิติ" ฉบับครอบคลุมห้วงอวกาศกว้างไกลมากที่สุด
เปิดตัว "แผนที่จักรวาล 3 มิติ" ฉบับครอบคลุมห้วงอวกาศกว้างไกลมากที่สุด

แผนที่จักรวาล 3 มิติ แสดงร่องรอยความเป็นมาในอดีตของเอกภพได้ไกลถึงเมื่อราว 1.2 หมื่นล้านปีก่อน

เปิดตัว "แผนที่จักรวาล 3 มิติ" ฉบับครอบคลุมห้วงอวกาศกว้างไกลมากที่สุด

กาแล็กซีที่มีอายุใกล้เคียงกันจะเกาะกลุ่มอยู่ในบริเวณแถบเดียวกันและแผ่พลังงานในช่วงคลื่นเดียวกัน

Posted in              :             BBC News ไทย   -   วิทยาศาสตร์

Posted on             :             25 กรกฎาคม 2020

แชร์