"หลับใน" อันตรายที่ต้องระวัง
..จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุจาก “การหลับใน” มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2559-2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว.. https://www.boonnews.tv/n26340
หลายคนมักจะมองข้ามอาการง่วงขณะขับรถ เพราะคิดว่าสามารถควบคุมอาการง่วงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่ง “อาการหลับใน” แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ โดยจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในขณะขับรถ กรมทางหลวง ระหว่างปี 2551-2561 พบว่า การหลับใน เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 4 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
มาดูอีกตัวเลขที่น่าสนใจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่าง 2551-2561 พบว่า จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุจาก “การหลับใน” มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2559-2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว
การหลับใน คืออะไร?
ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สมองมีกลไกควบคุมการหลับและการตื่นในส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” ส่วนสำคัญส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการตื่นและการนอนตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยปัจจัยของเวลาและความอิ่มท้องจะเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่จะส่งผลให้มนุษย์รู้สึกตื่นตัวหรือง่วงนอน
“การหลับใน” คือ การหลับในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงชั่ววูบเดียว เป็นภาวะที่ร่างกายมีการทำงานลดลง หรือช้าลง เป็นการสับสนระหว่างการหลับในและการตื่น โดยมีการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 1-2 วินาที นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตระบุว่า “การหลับใน” เป็นอันตรายเช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผลต่อการทำงานของสมองส่วนประมวลผล (brain processing) ทำให้การตัดสนใจแย่ลง (Impair judgment) การตอบสนองช้าลง (slower reflexes) ในขณะที่นักวิจัยจาก The University Of New south Wales และ University of Otago ค้นพบว่า การอดนอนเป็นเวลา 17-19 ชั่วโมง เปรียบเหมือนร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.05 (ระดับอ้างอิงตามกฎหมายต้องต่ำว่า 0.05) หมายความว่าหากเราอดนอน 17- 19 ชั่วโมงแล้วไปขับรถก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย
สัญญาณเตือนว่าเรา “หลับใน”
การขับรถในขณะง่วง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้ขับรวมถึงผู้โดยสารถึงแก่ชีวิตได้ แม้ว่าอาการหลับในจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็นานพอที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นเราจึงควรตระหนักรู้ถึงสัญญาณเตือนเหล่านี้ เพื่อที่จะได้แวะพักผ่อนเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่
1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง
2.กระพริบตาถี่ ๆ ลืมตาไม่ขึ้น
3.มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร
4.ใจลอยไม่มีสมาธิ
5.รู้สึกหนักศีรษะ หงุดหงิด กระวนกระวาย
6.ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง
7.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา
“หลับใน” ป้องกันได้อย่างไร?
1.นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมง อย่างน้อย 2 คืนก่อนวันเดินทาง
2.ทานอาหารแต่พอดี อย่ากินอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้
3.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4.ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
5.จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย
6.งดดื่มกาแฟ น้ำอัดลม ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง ก่อนเดินทาง 2-3 วัน เพราะอาหารเหล่านี้มีคาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับสนิท
นอกจากนี้ นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้เดินทางไกลว่า ให้ผู้ขับขี่จอดรถพักทุก 150 กิโลเมตร เพื่อให้ร่างกายไม่เมื่อยล้าเกินไป เตรียมอาหารแก้ง่วงระหว่างขับ โดยสิ่งที่ได้ผลดีคือผลไม้รสเปรี้ยว เพราะจะช่วยกระตุ้นประสาทให้สดชื่น หรือเตรียมน้ำแข็งก้อนไว้ให้คนขับอมหรือถูขมับ หรือปิดแอร์เปิดกระจกให้รู้สึกสดชื่นขึ้น และหากไม่ไหวจริง ๆ ให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพัก 10-15 นาทีก่อนไปต่อ และหากรู้ตัวว่าไม่พร้อมไม่ควรเดินทางคนเดียว ควรหาคนนั่งไปเป็นเพื่อนหรือสลับกันขับรถด้วย
การหลับใน ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลร้ายแรงอย่างไม่คาดคิดถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเริ่มรู้ตัวว่าง่วงนอนขณะขับขี่ ก็อย่าพยายามฝืนขับรถต่อไป แต่ให้รีบมองหาที่พักเพื่อลงไปล้างหน้าล้างตา ยืดเส้นยืดสาย หรือพักหลับสักประมาณ 10 นาที ก็จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นได้ รวมถึงการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดขณะขับขี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ข้อมูล : สสส.