โควิด-19 : ตัวเลขอาร์ (R) คืออะไร คำนวณอย่างไร และในไทยอยู่ที่เท่าไร
ค่า R ของไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ "2 กว่า ๆ" ในช่วงแรกของการระบาดระลอกใหม่เมื่อวันที่ 4-8 เม.ย. แต่หลังจากมีการปิดสถานบันเทิงและออกมาตรการต่าง ๆ ค่า R ได้ลดลงมาอยู่ที่ 1.6 https://www.boonnews.tv/n27888
ประเทศไทยกลับมาเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมกับการพูดถึงตัวเลขอาร์ (R) มากขึ้น ตัวเลขนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการวางมาตรการควบคุมโรค
ตัวเลขอาร์ คืออะไร
อาร์มาจากคำว่า Reproduction ซึ่งหมายถึง การขยายเชื้อ ตัวเลขอาร์เป็นวิธีการวัด ความสามารถในการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19
อาร์ คือจำนวนคนที่ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่น ๆ เฉลี่ยกี่คน
ยกตัวอย่าง โรคหัด มีตัวเลขอาร์ที่ 15 ในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่า เฉลี่ยแล้ว ผู้ติดเชื้อโรคหัด 1 คนจะแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ต่อ 15 คน
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซาร์ส-โคฟ-2 (Sars-CoV-2) จะมีตัวเลขการแพร่เชื้อต่ออยู่ที่ประมาณ 3 หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค
คำนวณตัวเลขอาร์อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลอย่างจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 ในช่วงเวลาหนึ่ง ในการประเมินว่า ไวรัสนี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายดายแค่ไหน
ทำไมตัวเลขอาร์ที่สูงกว่า 1 จึงอันตราย
ถ้าอัตราการขยายเชื้อสูงกว่า 1 จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าตัวเลขนี้ต่ำลง การแพร่ระบาดก็จะยุติลงในที่สุด เพราะมีคนติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่เพียงพอในการทำให้การระบาดของโรคดำเนินต่อไป
รัฐบาลทุกประเทศต้องการที่จะทำให้ตัวเลขอาร์ต่ำลงมาจากระดับ 3 (ซึ่งเป็นตัวเลขอาร์ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ) ให้ลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 1
ตัวเลขอาร์เปลี่ยนแปลงอย่างไร
ตัวเลขอาร์ไม่ได้อยู่คงที่ แต่มันเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนเราหรือภูมิคุ้มกันที่พัฒนาขึ้น
นักคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พยายามที่จะแกะรอยตัวเลขนี้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในช่วงที่มีการกักตัว การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020
ก่อนที่จะมีมาตรการใด ๆ เกิดขึ้น ตัวเลขอาร์ในสหราชอาณาจักรอยู่ที่สูงกว่า 1 และสภาพแวดล้อมสุกงอมจนทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีการบังคับใช้ต่อเนื่องทำให้ตัวเลขนี้ลดต่ำลง แต่มันก็ยังไม่ต่ำกว่า 1 จนกระทั่งเกิดการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบขึ้น
ตัวเลขนี้สำคัญที่สุดหรือไม่
ตัวเลขอาร์เป็นหนึ่งในตัวเลขที่สำคัญ 3 ตัว อีก 2 ตัวคือ ตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บางคนมีอาการป่วยเล็กน้อยที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อนี้ อาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
อีกตัวเลขหนึ่งคือ จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความสำคัญในการตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เมื่อใดถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อจำกัดยังไม่เข้มงวด และตัวเลขอาร์อยู่ที่ประมาณ 1 ก็จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
วัคซีนช่วยได้อย่างไร
โครงการฉีดวัคซีนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและหลาย ๆ ประเทศ ในขณะนี้ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวเลขอาร์ลดต่ำลง
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีผู้รับเชื้อต่อ 3 คน แต่ถ้าวัคซีนสามารถปกป้องคน 2 ใน 3 คนนี้จากการติดเชื้อได้ ตัวเลขการแพร่เชื้อต่อก็จะลดลงจาก 3 เป็น 1
ตัวเลขอาร์ในไทยอยู่ที่เท่าไร
ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อ 17 เม.ย. ว่า "ประเทศไทยผงาดเป็นแชมป์โลก Reproduction Rate - R สูงสุด" และระบุว่า ในขณะที่ อัตราการขยายเชื้อโควิด-19 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประเทศไทยกลับมีค่าอาร์ ทะยานขึ้นจนถือเป็น "แชมป์โลก" มีค่าอาร์ (ของวันที่ 13 เม.ย. 2021) = 2.27 ทิ้งอันดับ 2 คือซูรินาม ที่มีค่าอาร์ = 1.79 ค่อนข้างห่าง โดยที่ค่าอาร์เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1.17 โดยในโพสต์ได้แนบภาพประกอบที่ระบุว่านำมาจากเว็บไซต์ Our World in Data
บีบีซีไทย ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของไทยเมื่อเวลา 20.20 น. วันที่ 19 เม.ย. ปรากฏว่า ค่าอาร์ของไทยเมื่อ 16 เม.ย. ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.28
ค่าอาร์ของไทยเมื่อ 16 เม.ย. อยู่ที่ 2.28
นอกจากนี้ ศ.วรศักดิ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการรวมถึง ระบุว่า "ด้วย R = 2.27 หมายความว่า คนไทยติดเชื้อหนึ่งคนจะสามารถแพร่ต่อไปให้อีก 2.27 คน ถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ในช่วง 30 วันจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก้าวกระโดดไปถึง 136,821 คนต่อวัน"
ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ ได้เสนอแนะรัฐบาลว่า "ทางออกทางเดียว คือ รัฐบาลต้องรีบระดมให้มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศตามลำดับความสุ่มเสี่ยง โดยถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ก่อนที่จะสายไป"
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่าในทางระบาดวิทยาต้องควบคุมสถานการณ์ให้ค่า R น้อยกว่า 1 ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ค่า R ของไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ "2 กว่า ๆ" ในช่วงแรกของการระบาดระลอกใหม่เมื่อวันที่ 4-8 เม.ย. แต่หลังจากมีการปิดสถานบันเทิงและออกมาตรการต่าง ๆ ค่า R ได้ลดลงมาอยู่ที่ 1.6
Posted in : BBCNEWS I ไทย - ต่างประเทศ
Posted on : 20 เมษายน 2021