ภูมิแพ้ vs โควิด-19 สังเกตอาการอย่างไรในวันที่อากาศเปลี่ยน

โรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 นั้นมีอาการที่คล้ายคลึงกัน ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนนี้ หากเราฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่ ตลอดถึงผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหืดนั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ https://www.boonnews.tv/n26726

266 ผู้เข้าชม

คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีความกังวลใจเป็นพิเศษ

วันที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีความกังวลใจเป็นพิเศษ ว่าอาการที่แสดงออกอยู่นี้เป็นอาการของโรคภูมิแพ้หรือเป็นโควิด-19 แน่นอน มาสำรวจตัวเองและสังเกตอาการไปพร้อมๆ กัน

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง หรือเรียกตามชื่อหนัง Season Change เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวแดดร้อน เดี๋ยวฝนตก เดากันไม่ถูก เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยถ้าจะหยิบยกโรคแพ้อากาศมาบอกกัน เพราะถ้าเราปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม โรคแพ้อากาศก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กและยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นลามออกไปหรือมีผลแทรกซ้อนด้วย

อากาศเปลี่ยนแปลง...โรคแพ้อากาศ

ข้อมูลโดย อ.นพ.อนัญญ์  เพฑวณิช วิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า การที่อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการแพ้อากาศ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก คือจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น ความชื้นของอากาศตลอดจนกลิ่นฉุนสิ่งระคายเคืองต่างๆ จึงมักเรียกกันว่าโรคแพ้อากาศ โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย พบประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 จะมีอาการก่อนอายุ 30 ปี

อาการเบื้องต้นของการแพ้อากาศ 

ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อได้ ผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ แต่เราต้องสังเกตอาการหน่อยเพราะโรคแพ้อากาศจะคล้ายกับไข้หวัด กล่าวคือ อาการของไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ช่วงแรกจะใส ต่อมาจะข้น ระยะเวลาเป็นนาน 3-10 วัน มีไข้หรือไม่มีก็ได้ มีจามบ้างโดยไม่มีอาการคันจมูก ส่วนโรคแพ้อากาศจะมีอาการคันจมูก ร่วมกับน้ำมูกใสๆ มีอาการคันตา น้ำตาไหล ไม่มีไข้ ซึ่งส่วนมากมักจะมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่ออาการเข้าได้กับโรคแพ้อากาศดังที่กล่าวมาแล้ว หรือไม่แน่ใจว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ เมื่อไปพบแพทย์นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว การตรวจที่ช่วยยืนยันว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ และแพ้อะไรบ้าง คือการทดสอบทางผิวหนังและการตรวจเลือด ซึ่งผลการตรวจเลือดมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ทราบผลทันที  ปัจจุบันนิยมใช้การตรวจทางผิวหนังเป็นหลัก สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ  นอกจากนี้ ยังมีโรคที่พบร่วมกับโรคแพ้อากาศ ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ น้ำคั่งในหูชั้นกลาง โรคหืดหอบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก การกรน รวมทั้งภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอีกด้วย

หลักการรักษา 

ในปัจจุบันจะมี 3 ลักษณะ คือ  การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด  การรักษาด้วยยากินและยาพ่นจมูก นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีน สำหรับระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่าสามารถหลีกเลี่ยง ป้องกันและดูแลได้มากน้อยแค่ไหน หากจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ซึ่งสามารถช่วยลดอาการได้ โดยส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้เวลา 3-5 ปีแล้วแต่บุคคล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย

วิธีป้องกันโรคแพ้อากาศ 

การป้องกันต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ป่วยและแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตนเองของผู้ป่วยและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม จะช่วยทำให้อาการของโรคทุเลาลงมากจนไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศ สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติและอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้อื่นได้ ถ้าสามารถปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในช่วงโควิด-19 ระบาด

พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี ให้ความรู้ว่าในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหืด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีความกังวลใจกว่าสภาวะปกติ เมื่ออาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ โดยมักจะกังวลว่าเป็นอาการของโรคโควิด-19 หรือเปล่า หลายท่านก็กังวลว่าหากเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 มากกว่าปกติ และหากเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่าปกติหรือไม่ 

มีรายงานการวิจัย ในวารสารเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ชื่อว่า Allergy ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นี้ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลในผู้ป่วยชาวจีนที่เมืองอู่ฮั่นได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจนั้นไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเป็นโรคโควิด-19 และไม่ได้ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับภูมิแพ้ก็อาจจะต้องพึงระวังไว้เพราะโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด-19 จากรายงานการวิจัยนี้พบว่าได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ และโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 

สำหรับอาการที่พบบ่อยของโรคโควิด-19 คือ ไอ และมีไข้ นอกจากนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือจากรายงานการวิจัยนี้พบว่าผู้ป่วยเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์มีอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้หากมีอาการแค่เพียงไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอ่อนเพลีย ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเลยโอกาสที่อาการต่างๆจะเกิดจากโรค โควิด-19 ก็ย่อมจะมีน้อย นอกจากนี้ยังมีรายงานที่บอกว่าอาการจาม และมีน้ำมูก คัดจมูกที่พบบ่อยในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ก็พบได้น้อยในโรคโควิด-19 ดังนั้น หากมีอาการทางจมูกเด่นโอกาสที่จะเกิดจากโรคโควิด-19 ก็ย่อมน้อยเช่นกัน

ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีรายงานการศึกษาที่ชัดเจนว่าโรคภูมิแพ้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคโควิด-19 แต่หากเราเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจและอยู่ในช่วงที่มีโรคระบาดเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่นนี้เราก็ควรจะดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และใช้ยาที่เคยได้รับจากคุณหมอเพื่อบรรเทาอาการและควบคุมไม่ให้โรคภูมิแพ้กำเริบ ดังนี้คือ

●  โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หากมีอาการไม่มากก็ใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน แต่หากมีอาการบ่อยมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์หรือมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวันก็ควรใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกที่เคยได้รับจากคุณหมอ

●  โรคหืด ควรใช้ยาพ่นหรือสูดสเตียรอยด์หรือยาชนิดรับประทานที่ใช้ควบคุมอาการต่อเนื่องตามที่คุณหมอแนะนำให้ใช้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคโควิด-19แต่ก็จะทำให้เราคลายความวิตกกังวลหากอาการภูมิแพ้กำเริบว่าอาการนั้นเป็นแค่อาการของโรคภูมิแพ้ หรือเป็นอาการของโรคโควิด-19 กันแน่

* ทั้งนี้ หากมีอาการไอมาก หรือหายใจเหนื่อย ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ก็ควรมาพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องที่โรงพยาบาลดีกว่า 

ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งที่หมออยากฝากไว้ก็คือ ในช่วงนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืดนั้นควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งไข้หวัดใหญ่จะเริ่มมีการระบาดตามฤดูกาล โรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 นั้นมีอาการที่คล้ายคลึงกัน หากเราฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 อันอาจจะทำให้ผู้ป่วยหลายคนเกิดความเข้าใจผิดว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการของโรคโควิด-19 หรือและนำมาซึ่งความเครียดได้

ภูมิแพ้ vs โควิด-19 สังเกตอาการอย่างไรในวันที่อากาศเปลี่ยน

อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการแพ้อากาศ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก

ภูมิแพ้ vs โควิด-19 สังเกตอาการอย่างไรในวันที่อากาศเปลี่ยน
ภูมิแพ้ vs โควิด-19 สังเกตอาการอย่างไรในวันที่อากาศเปลี่ยน

ที่มา              :       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลพระรามเก้า

Photo           :       Freepik

Posted in     :        โพสต์ทูเดย์  -  ไลฟ์สไตล์   >   สุุขภาพ                                 

Posted on    :       วันที่ 28 เม.ย. 2563

แชร์